วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ธรรมชาติวิทยาศาสตร์(Nature of science;NOS)

ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ คือ ลักษณะเฉพาะตัวของวิทยาศาสตร์ที่ทำให้
วิทยาศาสตร์มีความแตกต่างจากศาสตร์อื่นๆ เป็นค่านิยม ข้อสรุปแนวคิดหรือ
คำอธิบายที่บอกว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร มีการทำงานอย่างไร นักวิทยาศาสตร์คือใคร
ทำงานอย่างไร และงานด้านวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์อย่างไรกับสังคมค่านิยม
(สสวท., 2551; McComas et al., 1998).

ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ประกอบไปด้วยแนวคิด 3 กลุ่มใหญ่คือ

ด้านที่ 1 โลกในมุมมองแบบวิทยาศาสตร์(Scientific World View)
1.1 โลกคือสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจได้
ปรากฏการณ์ต่างๆ บนโลกหรือในจักรวาลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นแบบรูป (pattern)
สามารถเข้าใจได้ด้วยสติปัญญา วิธีการศึกษาที่เป็นระบบ ผนวกกับการใช้ประสาทสัมผัส
และเครื่องมือต่างๆ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
1.2 แนวคิดทางวิทยาศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงได้
แนวคิดทางวิทยาศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีข้อค้นพบใหม่ที่อธิบายได้ดีกว่า
1.3 ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีความคงทน
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มีความคงทน เชื่อถือได้เพราะผ่านวิธีการ
ทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นความถูกต้องแม่นยำ และตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากประชาคม
วิทยาศาสตร์ (Scientific Community)
1.4 ทฤษฎีและกฎมีความสัมพันธ์กันแต่มีความแตกต่างกัน
กฎ คือ แบบแผนที่ปรากฏในธรรมชาติ ส่วน ทฤษฎี คือ คำอธิบายว่าทำไมแบบแผน
ของธรรมชาติจึงเป็นไปตามกฏนั้นๆ
1.5 วิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบได้ทุกคำถาม
วิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบคำถามในเรื่องของค่านิยม จิตวิญญาณ ความเชื่อ จริยธรรม
หรือศาสนาได้

ด้านที่ 2 การสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์(scientific inquiry)
ครอบคลุมถึง ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการค้นคว้าและสืบเสาะหาความรู้วิทยาศาสตร์
เป็นการเข้าใจถึงความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ที่จะหาหลักฐาน
โดยใช้เหตุผลและจินตนาการ ทำการทดลอง อธิบายและทำนายปรากฏการณ์ต่าง ๆ
เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่มาสนับสนุนแนวคิดของตนเองโดยพยายามหลีกเลี่ยงอคติและ
เป็นอิสระจากผู้มีอำนาจ

ด้านที่ 3ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการทางวิทยาศาสตร์ (scientific enterprise)
เนื่องจากความรู้วิทยาศาสตร์เพียงสาขาใดสาขาหนึ่งไม่สามารถนำไปสู่การ
พัฒนาความรู้วิทยาศาสตร์ขั้นสูงได้ ดังนั้น การสร้างความร่วมมือที่ดีระหว่าง
นักวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ หรือ การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคล
องค์กร และสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกิจการที่สำคัญต่อการส่งเสริม
การพัฒนาและเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน
โดยรวมต่อไป

ที่มา:
http://www3.ipst.ac.th/stat/assets//journal/j012_7Jan.pdf

http://www.edu.nu.ac.th/education-depart/doc/paper%.pdf

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น